โรงเรียนบ้านตลุง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์

โรงเรียนบ้านตลุง  อำเภอชุมพลบุรี  จังหวัดสุรินทร์
เรียนดี มีวินัย ใฝ่ศึกษา พัฒนาคุณธรรม นำชุมชน

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

ย่องานสืบค้นอิสระ เกี่ยวกับภาวะผู้นำ

1.  ชื่อเรื่อง   ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาตามการรับรู้ของข้าราชการครู 
โรงเรียนในอำเภอบ้านโพธิ์  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1

2.  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
                  สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา ซึ่งเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร(ประเวศ  วสี,2539 หน้า 1-2)  ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้ความสามารถ  ผู้ที่มีความรู้ด้านข้อมูลข่าวสารจนมีความเชี่ยวชาญจะเป็นผู้ได้เปรียบและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแห่งการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงได้ (ธีรยุทธ  บุญมี, 2536, หน้า 7)  ในสภาวะปัจจุบันโลกอยู่ในจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันกันสูง  ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรง  ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันนี้  โดยเฉพาะด้านการศึกษา  เศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองอันจะเห็นได้จากปัญหาและสภาพวิกฤตทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันในสภาพความเป็นจริง  ในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาไม่เพียงพอในจุดของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้เกิดการสวนทางกันระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับด้านจิตใจ (เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์, 2540,หน้า 40-41) การที่บุคคล สังคมปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงจะเกิดปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาหลายๆ ด้าน จึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาหลายๆ ด้าน อุปสรรคในการพัฒนาหลายๆ ด้านพร้อมๆ กัน (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ, 2539, หน้า 12)
                  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545  การจัดการศึกษาไทยท่ามกลางสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  เป็นแม่บทที่กำหนดแนวทางแก้ไขวิกฤตการณ์ในเรื่องคุณภาพการศึกษาโดยรวม  ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องได้รับการปฏิรูปไปพร้อมกัน  โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษานั้นจัดเป็นบุคลากรหลักเพราะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสถานศึกษาดังที่รัญจวน  อินทรกำแหง (2537 อ้างถึงในสงบ  ประเสริฐพันธ์, 2543 หน้า 9) กล่าวว่าผู้นำสถานศึกษาทุกระดับมีบทบาทความรับผิดชอบอย่างสำคัญ ตั้งแต่ครูใหญ่ ผู้อำนวยการ เพราะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในสถานศึกษานั้นทั้งในทางสร้างสรรค์และในทางทำลาย
                   จากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและบทบาทอันสำคัญยิ่งของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องมีภาวะความเป็นผู้นำ และพร้อมที่จะทำการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทำให้องค์การประสบความสำเร็จ  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นภาวะผู้นำที่ทำให้องค์การประสบความสำเร็จสูงในสภาพการณ์ที่มีข้อจำกัดต่างๆ ได้เป็นผู้ที่สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ตามอย่างมีประสิทธิภาพ ดึงความสามารถที่แตกต่างของบุคคลนำออกมาใช้อย่างมีประสิทธิผล ผู้ตามเกิดแรงบันดาลใจและปัญญา

2

3.  วัตถุประสงค์การวิจัย
                   3.1  เพื่อศึกษาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาตามการรับรู้ของข้าราชการครูอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 ใน 4 ด้าน คือ ด้านการสร้างบารมี ด้านการคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล ด้านการกระตุ้นการใช้ปัญญา และด้านการสร้างแรงบันดาลใจ
                   3.2  เพื่อเปรียบเทียบภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาตามการรับรู้ของข้าราชการครูอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 จำแนกตามเพศหรือประเภทสถานศึกษา

4.  ขอบเขตการวิจัย
                   มุ่งศึกษาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาตามกรอบแนวคิดของแบสส์ และอโวลิโอ (Bass & Avolio, 1988 อ้างถึงใน ประเสริฐ  สมพงษ์ธรรม, 2537. หน้า 12)

5.  นิยามศัพท์เฉพาะ
                   5.1  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง หมายถึง พฤติกรรมของผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นพลังผลักดันทำให้เกิดการตระหนัก เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ตามจนเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ๆ ทำให้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องวิสัยทัศน์และภารกิจของทีมงานและองค์การ พัฒนาผู้ตามไปสู่ความสามารถที่สูงขึ้น เกิดความสนใจเฉพาะตนไปสู่อุดมการณ์ทีเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในตสเองและองค์กร ประกอบด้วย
                          5.1.1  ด้านการสร้างบารมี หมายถึง การที่ผู้บริหารโรงเรียนมีพฤติกรรมที่ดี เป็นที่เชื่อถือมีเป้าหมายที่เป็นอุดมการณ์ชัดเจนในการทำงาน เป็นมิตรเป็นกันเองปฏิบัติตัวต่อผู้ร่วมงานโดยใช้หลักธรรมทางศาสนา มีความเฉลียวฉลาดมุ่งมั่นพัฒนาโรงเรียนให้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเสมอ
                         5.1.2  ด้านความคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล หมายถึง การที่ผ็บริหารโรงเรียนยอมรับนับถือความสามารถของแต่ละบุคคล ชื่นชมความสามารถของเอกภาพนั้น การให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มอบหมายงานให้ตรงกับความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ละคนเป็นกำลังหลักของโรงเรียนในการที่จะนำพาการศึกษาไปสู่คุณภาพ
                         5.1.3  ด้านการกระตุ้นการใช้ปัญญา หมายถึง การที่ผู้บริหารนำพาหรือผลักดันให้ผู้ร่วมงานตระหนักในปัญหาและส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาของผู้ร่วมงาน ผลักดันให้

3

ผู้ร่วมงานพยายามหาข้อสรุปใหม่ที่ดีกว่า ผู้ร่วมงานได้รับการชื่นชมเมื่อประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนางาน ผู้ร่วมงานทราบแนวคิดหลักในการพัฒนาโรงเรียนที่จะนำไปสู่คุณภาพ
                         5.1.4  ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ หมายถึง การที่ผู้บริหารสร้างความจริงใจและให้ความจริงใจกับผู้ร่วมงานอย่างเสมอภาค ใช้วาจาในการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ ปลุกใจให้เห็นคุณค่าของการพัฒนางาน ชื่นชมความสำเร็จและวางแนวงานแห่งการท้าทาย ส่งเสริมการกล้าคิดกล้าปฏิบัติในการปฏิบัติงานในแนวทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนางาน
                   5.2  สถานศึกษาในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 หมายถึง โรงเรียนของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
                   5.3  ผู้บริหารสถานศึกษา หมายถึง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดโรงเรียนในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1
                   5.4  เพศ หมายถึง เพศของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดโรงเรียนในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 แบ่งเป็นเพศชายและเพศหญิง
                   5.5  ประเภทของสถานศึกษา หมายถึง การจัดระดับสถานศึกษาตามการเปิดสอนหลักสูตรขั้นพื้นฐานของสถานศึกษาซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
                         5.5.1  โรงเรียนประถมศึกษา หมายถึง โรงเรียนที่เปิดทำการสอนในระดับช่วงชั้นที่ 1- 2
                         5.5.2  โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา หมายถึง โรงเรียนที่เปิดทำการสอนในระดับช่วงชั้นที่ 1- 3
                         5.5.3  โรงเรียนมัธยมศึกษา หมายถึง โรงเรียนที่เปิดทำการสอนในระดับช่วงชั้นที่ 3 – 4

6.  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
                   ข้อมูลที่ได้จากการวิจัย จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนในอำเภอบ้านโพธิ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 ดังต่อไปนี้
                   6.1  เป็นสารสนเทศสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนในอำเภอบ้านโพธิ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1
                   6.2  เป็นสานสนเทศสำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 ใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกผู้บริหาร การพัฒนาผู้บริหารและการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


4

7.  วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
                   ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาเกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนต่างๆ ภายในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 โดยศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
                   7.1  ภารกิจของโรงเรียนภายในอำเภอบ้านโพธิ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทราเขต 1
                   7.2  บทบาท หน้าที่ คุณลักษณะของผู้บริหารสถานศึกษา
                   7.3  ผู้บริหารสถานศึกษากับภาวะผู้นำ
                   7.4  แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำ
                   7.5  แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง
                         7.5.1  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา
                         7.5.2  องค์ประกอบของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง
                   7.6  ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย
                   7.7  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

8.  วิธีดำเนินการวิจัย
                   8.1  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
                         8.1.1  ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ข้าราชการครูโรงเรียนต่างๆ ในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 จำนวน 326 คน
                         8.1.2  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ ข้าราชการครูโรงเรียนต่างๆ ในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 ประจำปีการศึกษา 2549 จำนวน 177 คน ซึ่งกำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครจซี่และมอร์แกน
                   8.2  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
                          เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา ตามการรับรู้ของข้าราชการครูในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
                         ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเพศของผู้บริหารสถานศึกษาและประเภทของสถานศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบสำรวจรายการ(Checklist)

5

                         ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา ตามการรับรู้ของข้าราชการครูในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1  แบบสอบถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)  5 ระดับ โดยจำแนกเป็น 4 ด้าน คือ
                                1.  ด้านการสร้างบารมี จำนวน 10 ข้อ
                                2.  ด้านการคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล จำนวน 10 ข้อ
                                3.  ด้านการกระตุ้นการใช้ปัญญา จำนวน 10 ข้อ
                                4.  ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ จำนวน 10 ข้อ
                   8.3  การสร้างเครื่องมือวิจัย  การสร้างเครื่องมือวิจัยผู้วิจัยได้ดำเนินการดังนี้
                         8.3.1  ศึกษาจากเอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
                         8.3.2  สร้างแบบสอบถามเกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษา ตามการรับรู้ของข้าราชการครูในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 จากแนวคิดของ Bass & Avolio และจากแบบวัดการเปลี่ยนแปลงของ Bass & Avolio (1988) ชื่อว่า Multi-Factor Leadership Questionare (MLQ) จำนวน 2 ตอน  นำแบบสอบถามที่สร้างขึ้นเสนอต่อประธานกรรมการที่ปรึกษางานวิจัยแล้วเสนอผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหา
                         8.3.3  นำแบบสอบถามที่ได้จากผู้ทรงคุณวุฒิมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข และขอคำแนะนำจากประธานกรรมการที่ปรึกษางานวิจัย เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและเหมาะสม
                   8.4  ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ  ผู้วิจัยได้ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือดังนี้
                         8.4.1  นำแบบสอบถามที่ปรับปรุงแล้ว ไปทดลองใช้ (Try Out) กับครูผู้สอน ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 ชุด แล้วนำแบบสอบถามมาวิเคราะห์หาค่าอำนาจจำแนกรายข้อ (Discrimination) โดยใช้ค่าสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson) ระหว่างคะแนนรายข้อกับคะแนนทั้งฉบับ (Item-Total Correlation) และได้ค่าอำนาจจำแนกรายข้อโดยมีค่าสหสัมพันธ์ (r) ระหว่าง .25 ถึง .87 ซึ่งเป็นค่าที่ยอมรับได้และสามารถนำไปใช้เก็บข้อมูลได้
                         8.4.2  นำแบบสอบถามที่มีค่าอำนาจจำแนกแต่ละข้อตั้งแต่ .20 ขึ้นไปมาหาค่าความเชื่อมั่น (Reliability) โดยวิธีหาสัมประสิทธิ์แอลฟา (Alpha Coefficient) ของครอนบาค (Cronbach,1990,pp. 202-204) ผลการหาความเชื่อมั่นของแบบสอบถามปรากฏว่า ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .83
                      8.4.3  นำแบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบความเชื่อมั่น และมีความสมบูรณ์ไปใช้ในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง
6

                   8.5  การเก็บรวบรวมเครื่องมือ
                          การเก็บรวบรวมเครื่องมือสำหรับการวิจัยครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
                         8.5.1  ขอหนังสือจากภาควิชาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพาถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 เพื่อขอความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล
                         8.5.2  ส่งมอบแบบสอบถามจำนวน 177 ฉบับ ไปยังครูผู้สอนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างด้วยตนเองและทางไปรษณีย์
                         8.5.3  นำแบบสอบถามที่สมบูรณ์มาลงรหัสให้คะแนนตามน้ำหนักคะแนนแต่ละข้อและบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ โดยวอเคราะห์ข้อมูลโปรแกรม SPSS for Windows
                         8.5.4  ทำการวิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำผลการคำนวณมาวิเคราะห์ข้อมูลตามความมุ่งหมายและสมมติฐานของการวิจัยต่อไป
                   8.6  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
                         8.6.1  สถิติที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพแบบสอบถาม
                                1)  วิเคราะห์หาค่าอำนาจจำแนกของแบบสอบถามเป็นรายข้อ โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อย่างง่าย (Item-Total Correlation) ของเพียร์สัน (Pearson)
                                2)  หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา(Alpha Coeffceint) ตามวิธีของครอนบาค (Cronbach)
                         8.6.2  สถิติพื้นฐาน
                                1)  ค่าร้อยละ
                                2)  ค่าเฉลี่ย
                                3)  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
                         8.6.3  สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐานข้อ 8.6.1 ใช้การทดสอบค่าที (t)
                         8.6.4  สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐานข้อ 8.6.2 การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA)

9.  สรุปผลการวิจัย
                   จากการวิจัยปรากฏผลดังนี้
                   ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาตามการรับรู้ของข้าราชการครูโรงเรียนในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 โดยรวมพบว่า ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาตามการรับรู้ของข้าราชการครูโรงเรียนในอำเภอบ้านโพธิ์
7

สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เรียงอันดับจากมากไปหาน้อย คือ ด้านการคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล  ด้านการสร้างบารมี  ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ และด้านการกระตุ้นการใช้ปัญญาเป็นอันดับสุดท้าย

10.  ข้อเสนอแนะ
                   10.1  ข้อเสนอแนะจากการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยขอเสนอแนวทางในการนำเสนองานวิจัยมาพัฒนาภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาตามการรับรู้ของข้าราชการครูโรงเรียนในอำเภอบ้านโพธิ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา เขต 1 ดังนี้
                         10.1.1  ด้านการกระตุ้นการใช้ปัญญา  ผู้บริหารสถานศึกษายังใช้ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงตามการรับรู้ของข้าราชการครูเป็นอันดับสุดท้าย ควรให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ร่วมงานใช้เทคโนโลยีในการสอน รวมถึงแนะนำให้ผู้ร่วมงานศึกษาปัญหาความต้องการของผู้เรียน การให้ผู้ร่วมงานหาวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา
                         10.1.2  ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ  ควรเร่งรัดด้านการกำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจนและให้ข้าราชการครูมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ แสดงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของวิสัยทัศน์อย่างเป็นรูปธรรม
                         10.1.3  ด้านการสร้างบารมี  ควรหาวิธีการให้ข้าราชการครูผูกพันกับสถานศึกษา  ผู้บริหารสถานศึกษาต้องพยายามสร้างความเลื่อมใสศรัทธา  โดยปฏิบัติตนเป็นผู้ที่เป็นผู้นำอย่างแท้จริง
                         10.1.4  ด้านการคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล  ควรได้ศึกษาถึงคุณสมบัติของข้าราชการครูให้ชัดเจน ให้โอกาสผู้ร่วมงานแสดงความสามารถและความรับผิดชอบในการทำงานอย่างไว้วางใจ จะส่งผลให้พัฒนางานอย่างเต็มใจ
                         10.1.5  ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งเพศชายและเพศหญิง ควรได้รับการพัฒนาโดยการจัดสัมมนาหรืออบรมในภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการกระตุ้นการใช้ปัญญา
                         10.1.6  ประเภทสถานศึกษา ควรพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาประเภทโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนประถมศึกษา ให้มีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานเดียวกันพร้อมทั้งพัฒนาเป็นด้านๆ ต่อไป
                   10.2  ข้อเสนอแนะเพื่อทำงานวิจัยครั้งต่อไป
                         10.2.1  ศึกษาการกระตุ้นปัญญาของผู้บริหารสถานศึกษาประเภทโรงเรียนประถมศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาประเภทโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา  ผู้บริหารสถานศึกษาประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษา
8

                         10.2.2  เปรียบเทียบภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา  โรงเรียนมัธยมศึกษาในด้านการกระตุ้นการใช้ปัญญา















สืบค้น/สรุปข้อมูลโดย  นายพนมวรรณ  โพธิสาร
นักศึกษามหาบัณฑิต  บริหารการศึกษา ศูนย์โรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ รุ่น 2 เลขที่ 20
21/12/2553   ( 21.16)